Friday, September 26, 2008

?


หลงรัก เชียงใหม่ ตั้งแต่เมื่อไหร่?

ฉันเองก็ไม่รู้ และคงไม่มีเหตุผลที่แน่จัด คงเหมือนกับ การหลงรักทั่วๆไป ที่ไม่จำเป็นที่จะต้องมีเหตุผลอันใดมาอธิบาย รู้แต่ว่า เมื่อได้ไกล้ชิดแล้วรู้สึกสบายใจ เข้ากันได้ อยากอยู่ด้วยนานๆ โดยไม่รู้สึกเบื่อ และ การหลงรักสถานที่มีข้อดีกว่าการหลงรักใครสักคนตรงที่ เราสามารถรักได้หลายๆที่ในเวลาเดียวกันโดยไม่ต้องมีปัญหา ..

ฉันเคยมาเชียงใหม่ครั้งแรก เมื่อตอนอายุ7ขวบกับครอบครัว จำได้ว่า พ่อซื้อร่มเขียนลายดอกไม้ที่
อ.สันกำแพงให้คนละหนึ่งคัน เป็นของขวัญที่พิเศษมากในตอนนั้น ฉันยังคงเก็บมันเอาไว้จนขาดยุ่ยไปตามกาลเวลา จุดเริ่มต้นของความรู้สึกดีๆ คงจะมาจากครั้งแรกที่ไปกับครอบครัวนี้เอง ถึงแม้จะจำรายละเอียดไมได้ แต่ก็รู้สึกว่าเป้นที่ๆสวยงาม มีธรรมชาติ และมี ข้าวเหนียวไข่เจียวกับไส้อั่วกิน
หลังจากครั้งนั้น ฉันก็ไม่เคยมีโอกาศมาอีกเลย จนกระทั่งเรียนอยู่ คณะศิลปกรรมศาสตร์ อาจารย์จัดทริปให้พวกเราขึ้นเหนือไปศึกษาศิลปะล้านนา วัดวาอาราม ที่เชียงใหม่ ไปพร้อมๆกับเพื่อนๆทั้งชั้นปี สนุกมากๆแทบจะเรียกได้ว่า เป็นการไปเที่ยวที่สนุกที่สุดในชีวิต เพราะมีเพื่อนๆทุกๆคนไปด้วยกัน เรียนบ้าง เล่นบ้าง (หนักไปทางเล่นชะมากกว่า)
ตื่น7โมงเช้า ออกสำรวจวัด ฟังประวัติศาสตร์ศิลปะจากอาจารย์ ด้วยสติครึ่งๆกลางๆเพราะสารตกค้างจากของเหลวเมื่อคืน เมื่อนึกย้อนกลับไป ฉันรู้สึกว่าชีวิตนักศึกษามันมีความสุขจริงๆไม่ต้องคิดอะไรนอกจากเรียนให้จบ มีเวลาอยุ่กับตัวเองและเพื่อนๆเต็มที่ ไม่เหมือนการโตเป็นผู้ใหญ่ ที่ต้องหน้ามืดทำงานกันไปจนกว่าจะตาย

.....การไปเที่ยวกับมหาวิทยาลัยครั้งนั้น ได้ไกล้ชิดเชียงใหม่มากขึ้นอีกหน่อย ได้รู้จักตั้งแต่รากเหง้าของศิลปวัฒนธรรมที่สวยงามเก่าแก่ ไปจนถึงสุดปลายยอดไม้ของวัฒณธรรมยุคใหม่ ทำให้ฉันตั้งใจว่าจะต้องกลับมาใช้เวลาอีกสักหน่อย ในการสัมผัสเชียงใหม่อย่างจริงๆจังๆ ผู้อ่านอาจจะคิดว่า ฉันจะอะไรนักหนากับที่นี่ ทั้งๆที่ก็เป็นเพียงจังหวัดธรรมดา ที่มีอะไรเหมือนๆคล้ายๆกับจังหวัดอื่น อย่างที่ฉันบอกคุณตอนแรก ความรู้สึกเหมือนเจอคนถูกใจ ไม่ว่าเขาจะธรรมดาสักแค่ไหน ก็ย่อมพิเศษสำหรับคุณเสมอ
ฉันมีโอกาศได้มาที่เชียงใหม่อีกหลายครั้ง จนรู้สึกสนิทคุ้นเคย ไม่รุ้โชคชะตาชีวิต หรือว่าการดิ้นรนอยู่ลึกๆของฉันเอง จึงทำให้ฉันได้พาตัวเองมาอยู่ที่นี่ แบบเกือบสมบูรณ์ ฉํนลาออกจากงานหนังสือที่ฉันรัก สละเมืองกรุงที่มีพร้อมทุกอย่าง ยอมห่างจากครอบครัว และเพื่อนๆ ที่รักของฉัน เพื่อมาอยู่ที่นี่ แต่ฉันไม่เคยเสียใจหรือคิดว่าตัวเองคิดผิดแต่อย่างใด เพราะฉันได้เข้าใจแล้วว่า บางครั้งคนเราก็ต้องยอมสละอะไรบางอย่างเพื่ออะไรบางอย่างที่เรียกร้องอยู่ในใจ

กรุงเทพมหานครที่มีพร้อมทุกอย่าง แต่อาจไม่มีสิ่งที่ฉันต้องการอย่างแท้จริง นั่นคือชีวิตที่สงบและเนิบช้า อย่างที่เชียงใหม่

ตอนที่ฉันมาอยู่ที่นี่แรกๆ ฉันยังต้องปรับตัวกับภาษาและวิธีการใช้ชีวิตที่ต่างไปจาก กรุงเทพนิดหน่อย
ถึงแม้ว่าตอนนี้เชียงใหม่จะกลายเป็นจังหวัดใหญ่ที่เหมือนจะมีพร้อมทุกอย่างไม่แพ้กรุงเทพ แต่ก็ยังคงมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันอยู่ อย่างเช่นการใช้รถแดงแทนแท็กซี่ ถ้าหากว่าเหมาไปที่ไหนสักที่ เราจะต้องจ่ายในราคาที่สูง ถ้าอยากจะจ่ายถูกก็ต้องนั่งตามเส้นทางไปกับผู้โดยสารอื่นๆ และเลือกลงในจุดที่เราต้องการ ฉันเคยคิดว่า หากใช้รถจักรยานยนต์จะสะดวกมากกว่า แต่ก็ต้องเลิกคิดไปเพราะนึกได้ว่า ฉันไม่รุ้เส้นทางในเชียงใหม่เลย และ ฉันขี่รถจักรยานยนต์ไม่เป็น.....(เอ่อ..)

เมื่อใช้เวลาอยู่ไปเรื่อยๆ ฉันก็ค่อยๆ เจอมุมน่ารักๆ ที่ไม่เคยเห็นที่กรุงเทพมาก่อน เช่น อาหารการกิน ที่มีชื่อเรียกแปลกๆ สรรพนามและคำต่างๆที่เป็นภาษาเมือง(ภาษาทางเหนือ) ฉันรู้สึกว่า ภาษาเมืองเป็นภาษาที่น่ารัก อ่อนช้อย แม้กระทั่งเวลาเขาด่ากัน ฉันก็ยังฟังดูน่าเอ็ดดูไปหมด (อาจเพราะเขาไมได้ด่าฉํน และฉันก็ฟังไม่รู้เรื่อง)

ได้รู้จักอาหารพื้นเมืองรสชาติน่าสนใจอีกหลายๆอย่างที่ไม่ใช่ไส้อั่ว แค๊บหมู น้ำพริกหนุ่ม เช่น จิ้นส้มหมกไข่ (จิ้นส้มคล้ายกับแหนมตอกใข่ใส่ห่อใบตองแล้วเอาไปย่าง), แกงผักปั๋ง(ผักปั๋งเป็นผักสวนครัวท้องถิ่น ที่กรุงเทพไม่มีแน่ๆ คนเมืองนำมาผัดหรือแกงใส่น้ำมะขามเปรียวๆ ), ยำเตา(เตาเป็นพืชน้ำชนิดหนึ่งสีเขียวตระกูลเดียวกับสาหร่าย ขึ้นตามบึงที่มีน้ำใสๆตามท้องไร่ท้องนานิยมเอามายำหรือทำลาป..อันนี้กรุงเทพไม่มีเด็ดขาดเช่นกัน จอดตั้งแต่หาได้ตามบึงน้ำสะอาดแล้ว ), แกงกะด้าง (แกงลักษณะเหมือนแยลลี่ ), ซ่าบ่าเขือ (ยำมะเขือเปราะ)..ทำให้นึกถึงเพลงของ ครูจรัญ มโนเพรช ชื่อเพลง ของกิ๋นคนเมือง จริงๆ

มุมเล็กๆน้อยๆอีกอย่างที่รู้สึกประทับใจและไม่เหมือนกับที่ กรุงเทพเลย คือ วัฒณธรรมการกินลูกชิ้นทอดของคนที่นี่ ถ้าเป็นที่กรุงเทพบ้านเรา ซื้อลูกชิ้นก็ใส่ถุงราดน้ำจิ้มต่างคนต่างกิน แต่ ที่นี่ เวลาเราจะกินลูกชิ้นทอด คนที่นี่นิยมซื้อทีละ1ไม้ แล้วยืนกินที่รถขายลูกชิ้น กินไป จิ้มไปทีละลูก ทางร้าน (ก็รถเข็นนั่นแหละ) จะมีหม้อน้ำจิ้ม เผ็ด หวาน ผสมเผ็ดหวาน แยกหม้อไว้ให้ลุกค้าเลือกจิ้มได้ตามใจ ระหว่างกินแต่ละไม้ก็คิดไปว่าไม่ต่อไปจะกินอะไรดี อย่างเช่น ปลา กรอก โบ้ (ลูกชิ้นปลา ไส้กรอก ลูกชิ้นจัมโบ้) เป็นต้น คนขายก็จะขายไป คุยไป จนสนิทสนมกับลูกค้า ฉํนเคยไปยืนกินแบบนั้นหลายครั้งแล้ว ไม่ได้ติดใจเพราะมันอร่อยสักเท่าไหร่ แต่ติดใจรูปแบบของมันมากกว่า คุณป้าคนขายเล่าว่า ขายมาหลายปีที่หน้าโรงรียน ปริ้น (Prince Royal Collage) จนรู้จักเด็กและมีลูกค้าเป็นนักเรียนหลายรุ่น บางคนจบไปก็ยังกลับมากิน กลับมาเล่าเรื่องชีวิตนอกรั้วโรงเรียนให้แกฟัง บางคนพาสาวมากิน กินไปจีบไป พอสักเดือนสองเดือน เลิกกัน ก็กลับมากินลุกชิ้นเคล้าน้ำตา ระบายให้แกฟังอีก เหมือนกับร้านลูกชิ้นเป็นสังคมเล็กๆ ที่เชื่อมโยงคนเข้าหากัน (โดยลูกชิ้น) ทำให้ลุกค้าและคนขาย ไม่ใช่เพียงแลกเปลี่ยนเงินทองกับสินค้า แต่ยังแลกเปลี่ยนอย่างอื่นร่วมด้วย

ความน่ารักของวัฒนธรรม ผู้คน ภาษา และความสงบเงียบแวดล้อมธรรมชาติของเชียงมใหม่ อาจเป็น
สเน่ห์ที่ทำให้ฉันหลงไหลและหลงรักในที่สุด ก็คงเหมือนกับที่อื่นๆ ภูเก็จ สมุย เสม็ด หรือแม้กระทั่ง กรุงเทพ ที่มีสเน่ห์ที่แตกต่างกันไป แล้วแต่รสนิยมของแต่ละคน ในวันนี้ฉันพอใจกับชีวิตที่เชียงใหม่และยังคงสนุกกับการซึมซับอารยะของที่นี่ แม้ว่าจะเหงาบ้าง คิดถึงบ้าง แต่มันก็เป็นอีกรสหนึ่ง ของการเดินทางของฉัน ในอนาคต ฉํนอาจจะพาตัวเอง ไปดูดซึมกลิ่นอายของที่อื่นๆอีก หรือจะพักเวลาที่เหลืออยุ่ริมดอยของที่นี่ ฉันก็ยังไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ
ไม่ว่าฉันจะอยู่ที่ไหน ฉํนก็จำไม่ลืมที่ที่ฉันจากมา ไม่ลืมว่าตัวฉันคือใคร และยังคงมีหัวใจ ..ดวงเดิม..

ปล. หำใครอยากลองกินลูกชิ้นแบบนั้น แนะนำให้ไปที่หน้าโรงเรียนปริ้น จะมีร้านลุงสวนน้ำจิ้มรสเด็ด กับป้าจุ๋ม อยู่ รับรองว่าไม่ผิดหวังแต้ๆเจ้า!

0 Comments:

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home